หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของมหกรรมกีฬาคือสนามแข่งขัน และในหางโจวเกมส์ จีนเจ้าภาพจัดเต็มกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แล้วข้อมูลเบื้องต้นมีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้ที่นี่
56 สนาม 37 ชนิดกีฬา
เพื่อให้สมศักดิ์ศรีในฐานะพี่ใหญ่ของเอเชีย จีนประกาศสร้างสนามใหม่ 14 แห่ง บวกกับบูรณะปรับปรุงของเดิมอีกกว่า 44 แห่ง เพื่อรองรับมหกรรมกีฬาครั้งนี้ โดยกระจายอยู่ในหางโจว มณฑลเจ้อเจียง และพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง เฉาชิ่ง, หนิงป๋อ, จินหัว, เหวินโจว และ เต๋อชิง ซึ่งอยู่ภายใต้แกนของการแข่งขันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทันสมัย ไม่ฟุ่มเฟือย และมีเอกลักษณ์ของทวีปเอเชีย
ทั้ง 56 สนาม ใช้จัดการแข่งขัน 61 ประเภทจาก 37 ชนิดกีฬา โดยศูนย์กีฬาปีนผาหยางชานในเฉาชิ่ง คือสนามที่ก่อสร้างเสร็จเป็นแห่งสุดท้ายในเดือนมีนาคมปี 2022 และทุกสนามผ่านมาตรฐานรวมถึงมีการทดลองจัดการแข่งขันเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ศูนย์ฝึกซ้อมทั้ง 31 แห่ง และหมู่บ้านนักกีฬาอีก 5 แห่งต่างพร้อมใช้งานทั้งเอเชียน เกมส์ และเอเชียน พาราเกมส์ เช่นกัน
“ดอกบัวยักษ์” สนามหลัก หางโจว เกมส์
เมื่อพูดถึงสนามแข่ง ความสำคัญและสนามที่มีบทบาทมากที่สุดคือสนามหลักของการแข่งขัน และในเอเชียนเกมส์หนนี้คือ หางโจว โอลิมปิก สปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ สเตเดียม หรือที่มีชื่อเล่นว่า “ดอกบัวยักษ์” ความจุ 80,000 ที่นั่ง ซึ่งสนามแห่งนี้จะใช้ในพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน รวมทั้งจัดแข่งกรีฑาและฟุตบอลชายนัดชิงชนะเลิศ
สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบสนามแห่งนี้มาจากเนื้อผ้าและวิธีการทอผ้าไหมโบราณ ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสะท้อนภาพเกลียวคลื่นอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำเฉียนถัง ส่วนหลังคาของสนามประกอบไปด้วยโครงสร้างแบบกลีบดอกไม้ใหญ่-เล็กรวมกว่า 55 กลีบ อันมีที่มาจากบัวพื้นเมืองของทะเลสาบตะวันตกหนึ่งในทิวทัศน์ที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองหางโจว
จัดเต็มทั้งดีไซน์และเทคโนโลยี
ในฐานะเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมไปกับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว ทำให้สนามแข่งขันที่สร้างขึ้นใหม่มีทั้งความสวยงามแบบสมัยใหม่ ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ขัดต่อภาพลักษณ์ของความเป็นเมืองอนุรักษ์ อย่างเช่นสนามดอกบัวยักษ์ที่เป็นภาพสะท้อนเมืองหางโจวได้อย่างครอบคลุม โดยใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบน้อยกว่าสนามรังนกที่กรุงปักกิ่งถึง 67 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สนาม หางโจว อีสปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ ก็มีการออกแบบให้เหมือนยานอวกาศโดยใช้แนวคิด “กระแสน้ำวนแห่งดวงดาว” เข้ากับชนิดกีฬาที่จัดการแข่งขันซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และไม่พลาดที่จะสร้างบรรยากาศในสนามแข่งอย่างเต็มรูปแบบด้วยระบบภาพและเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศา
อีกสนามที่มีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ไม่แพ้กันคือ เฉียนถัง โรลเลอร์ สปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ ที่ใช้แข่งโรลเลอร์สเก็ต และสเก็ตบอร์ด ซึ่งเมื่อมองลงมาจากด้านบนจะดูเหมือนรูปทรงของเลข 6 สองตัวเชื่อมกันหรือรูปลูกข่างหมุนคล้ายเกลียวลมที่เป็นเอกลักษณ์ของกีฬาโรลเลอร์สเก็ตนั่นเอง