เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ห้อง Convention B&C ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ดร.ปัญญา หาญลำยวง คณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมสัมมนาบุคลากรกีฬาคิกบ็อกซิ่ง (ระดับนานาชาติ) ซึ่งจัดขึ้นโดย สหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO) ผนึกกำลัง สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาบุคลากรกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ของสมาคมฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-2 กันยายน 2566 โดยมี รอย พาทริก เบเคอร์ ประธานสหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO), ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), น.ส.ทิรา บุญาณี กิตติกรณ์ อุปนายกสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งประเทศไทย รวมทั้งนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และบุคคลากรกีฬาคิกบ็อกซิ่งเข้าร่วมอย่างคึกคัก
สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาบุคลากร ทั้งผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน นักกีฬา เจ้าหน้าที่ทุกองคาพยพ โดยความร่วมมือจาก สหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO) นำโดย รอย พาทริก เบเคอร์ ประธาน WAKO และเอสเปน ลุนด์ รองประธาน WAKO จัดการอบรมพัฒนาบุคลากรทางการกีฬาของสมาคมฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-2 กันยายน 2566 หลักสูตรที่เปิดอบรมคือ ผู้ฝึกสอนระดับชาติ ขั้นต้น (Class 1) แบบฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย วิทยากรที่เดินทางมาให้ความรู้กับผู้เข้ารับการอบรมมาจากสหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO) ประกอบด้วย โรเมโอ เดซ่า ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค WAKO, ไดมี่ อาคิน โค้ชผู้เชี่ยวชาญประเภทฟูล คอนแทร็ก, โธมัซ บาราด้า โค้ชผู้เชี่ยวชาญประเภทไลท์ คอนแทร็ก และเอลิจาห์ เอเวอร์ริลล์ โค้ชผู้เชี่ยวชาญประเภทพอยต์ ไฟต์ติ้ง
สำหรับผู้เข้ารับการอบรมเป็นบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในการเป็นผู้ฝึกสอน และผู้ตัดสินกีฬาคิกบ็อกซิ่ง มีวุฒิการศึกษาอย่างต่ำมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป เป็นผู้ฝึกสอน และมีคุณวุฒิทางกีฬาต่อสู้ เช่น มวย, เทควันโด, คาราเต้, ยูยิตสู และกีฬาต่อสู้อื่นๆ รวมทั้งเป็นอาจารย์ ครูพลศึกษา สังกัดโรงเรียนมหาวิทยาลัย นักกีฬาคิกบ็อกซิ่ง (ประเภทต่อสู้-ทาทามิ) วัตถุประสงค์ของการอบรม เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคิกบ็อกซิ่งในเมืองไทย หลังจากวงการกีฬาเริ่มหันมาจับตามองกีฬาคิกบ็อกซิ่งกันมากขึ้น จากการประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ และต้องการทำให้กีฬาคิกบ็อกซิ่งแพร่หลายไปทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้หนังสือรับรอง (Certificate) และยังได้สิทธิขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรของสมาคมอีกด้วย
วันแรกของการอบรม ช่วงเช้า มีการให้ความรู้ในหัวข้อเรื่อง โครงสร้างองค์กร โดย รอย พาทริก เบเคอร์ ประธานสหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO) ตามด้วยเรื่องการพัฒนาระเบียบวินัยของสหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO) จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการอบรมหัวข้อ สัมมนาโค้ชชิ่ง ประเภททาทามิ โดย เอลิจาห์ เอเวอร์ริลล์ และโธมัซ บาราด้า, หัวข้อเรื่อง ระบบสมาชิกของสหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO) ปิดท้ายวันแรกของการอบรมด้วยหัวข้อ สัมมนาโค้ชชิ่ง ประเภทต่อสู้ โดย ไดมี่ อาคิน และเดยัน พาวิช
ดร.ปัญญา หาญลำยวง กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการอบรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจกฏกติกาคิกบ็อกซิ่ง เพราะที่ผ่านมาการแข่งขันนักกีฬาคิกบ็อกซิ่งไทยเตะร่วง ต่อยทรุด แต่ผลตัดสินแพ้ จากการไม่เข้าใจกติกาชัดเจน จึงจัดการอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีทางเลือกในชีวิตการเป็นนักกีฬาที่ใช้ศิลปะการต่อสู้มวยไทยเป็นพื้นฐานได้เข้าใจบริบท และธรรมชาติของคิกบ็อกซิ่งมากขึ้น ซึ่งผู้เข้าอบรมโชคดีที่ได้รับความรู้จากวิทยากรสุดยอดของโลก โดยต้องขอบคุณสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล หลังจากนี้สมาคมจะขยายจากส่วนกลางไปจัดการอบรม 5 ภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเผยแพร่กีฬาคิกบ็อกซิ่งให้แพร่หลายยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาเรื่องอุปกรณ์ และเวทีควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างพื้นฐานนักกีฬามากขึ้น
“ครั้งนี้ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ เป็นก้าวแรกวงการกีฬาคิกบ็อกซิ่งไทย ต่อไปผมเชื่อว่าในอีก 5 ปีถ้ากีฬาคิกบ็อกซิ่งได้บรรจุในโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ถือเป็นอีกกีฬาที่ควบคู่มากับมวยไทย เราก็จะสามารถสร้างนักกีฬาได้ทัน และมีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เราตั้งเป้าว่านักกีฬาคิกบ็อกซิ่งไทยจะคว้าเหรียญโอลิมปิกถ้ามีการจัดในอีก 5 ปีข้างหน้า” ดร.ปัญญา กล่าว
ขณะที่ “โค้ชดวง” นายประวิทย์ สวัสดิรักษา ผู้ฝึกสอนกีฬาคิกบ็อกซิ่ง กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้องค์กรใหญ่ที่สุดของคิกบ็อกซิ่งโลกมาให้ความรู้กติกา เทคนิคต่างๆ ที่จะทำให้ชนะในการแข่งขัน มองว่าเรามีแนวทางที่จะเป็นเลิศในระดับโลกได้ ซึ่งก็จะต้องมีการพัฒนา และต้องขอบคุณสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ที่ผลักดันอย่างเต็มที่ด้วยการจัดการอบรมครั้งนี้
ด้าน “จิมมี่” พิฆเนศ สุขหยิก นักกีฬาคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย กล่าวว่า การที่ได้สหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลกมาให้ความรู้ถือเป็นเรื่องดีต่อตัวนักกีฬา และผู้ฝึกสอนด้วย เพราะเราจะได้รู้กติกาขององค์กรโลก ได้ช่วยกันหาแนวทางในการแข่งขันชิงเหรียญทองตามเป้าหมายของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ทำให้นักกีฬามีความหวัง และมีการพัฒนาต่อไปได้ง่ายยิ่งขึ้น