"คิกบ็อกซิ่ง" บุกเชียงใหม่ ติวเข้มกฎกติกาคึกคัก พร้อมเดินสายอีก 4 ภาคทั่วไทย หวังบูมติดตลาด

"คิกบ็อกซิ่ง" บุกเชียงใหม่ ติวเข้มกฎกติกาคึกคัก พร้อมเดินสายอีก 4 ภาคทั่วไทย หวังบูมติดตลาด

สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งประเทศไทย จัดโครงการจัดอบรมกฏและกติกา กีฬาคิกบ็อกซิ่ง ตามมาตรฐานสหพันธ์คิกบ็อกซิ่งโลก (WAKO) และอุปกรณ์กีฬาคิกบ็อกซิ่ง เพื่อการอบรมและฝึกซ้อม ส่วนภูมิภาค 5 ภาค ประเดิมภาคแรกที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ณ ห้องประชุมป่าสักหลวง โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศผู้เข้าร่วมการติวเข้มอย่างคึกคักมากถึง 120 คน หวังเพิ่มพูนทักษะของนักกีฬา ผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน เตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ

สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ เดินหน้าขับเคลื่อนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎกติกากีฬาคิกบ็อกซิ่งอย่างถูกต้อง ตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2565-2570) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเด็นยุทธศาสตร์ และแนวทางพัฒนา จึงได้จัดการโครงการจัดอบรมกฏและกติกา กีฬาคิกบ็อกซิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรทางการกีฬา และผู้ที่สนใจจาก 77 จังหวัด ใน 5 ภาค รวมทั้งเจ้าหน้าที่, บุคลากรของสมาคม, นักกีฬาคิกบ็อกซิ่ง และนักกีฬาประเภทการต่อสู้ ประมาณ 600 คน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในกฏ และกติกา กีฬาคิกบ็อกซิ่งตามมาตรฐาน WAKO ให้เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์กีฬาคิกบ็อกซิ่ง เพื่อการอบรมและฝึกซ้อม ยกระดับให้บุคลากรมีทักษะ และสามารถปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด
img_3077-2-copy_0_0
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่กีฬาคิกบ็อกซิ่งตามมาตรฐาน WAKO ที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ให้การรับรอง ทำให้แพร่หลายในประเทศไทยอย่างมีมาตรฐาน และเพิ่มพูนทักษะของนักกีฬา ผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน โดยจะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันระดับชาติ และระดับนานาชาติที่ WAKO จัดขึ้น รวมถึงมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ โดยหลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย ภาคทฤษฏี ความเข้าใจเกี่ยวกับกีฬาคิกบ็อกซิ่งในประเทศไทย, คุณสมบัติของผู้สอนกีฬาคิกบ็อกซิ่งที่ดี, ความแตกต่างระหว่างคิกบ็อกซิ่งกับกีฬามวยไทย, ประเภทของคิกบ็อกซิ่ง และแนวทางปฏิบัติการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคม และผู้ตัดสินคิกบ็อกซิ่ง ส่วนภาคปฏิบัติเป็นของกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภททาทามิ และประเภทริง
img_3163-copy_0_0
img_3288-copy_0_0
การอบรมประเดิมภาคแรกแล้วที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ณ ห้องประชุมป่าสักหลวง โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว โดยพิธีเปิดวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 มี ผศ.ดร.อนันต์ เมฆสวรรค์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ประจำวิทยาเขตชัยภูมิ เป็นประธาน เริ่มต้นช่วงเช้าด้วยการอบรมภาคปฏิบัติกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภททาทามิ โดย “โค้ชเอก” นายเอกรินทร์ ทองมา ผู้ฝึกสอนคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย ประเภททาทามิ และคณะ จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการอบรมภาคปฏิบัติกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภทริง โดย “โค้ชดวง” นายประวิทย์ สวัสดิรักษา ผู้ฝึกสอนคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย ประเภทริง, นายวินัย จำปาทอง และนายสุรสิทธิ์ ภูงามเงิน ร่วมติวเข้มให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม

วันที่สอง วันที่ 12 พฤศจิกายน ช่วงเช้ายังคงเป็นการอบรมภาคปฏิบัติกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภททาทามิ และประเภทริง ตามด้วยช่วงบ่ายกับการอบรมแนวทางปฏิบัติการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งประเทศไทย และผู้ตัดสินคิกบ็อกซิ่ง โดย น.ส.ปณิชตา ดีเหลือ เลขาธิการสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ก่อนได้มีการทำแบบทดสอบ และแบบประเมิน  ปิดท้ายด้วยพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม โดยมี ดร.ปัญญา หาญลำยวง คณะอนุกรรมการติดตามการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร ร่วมด้วย นายมนตรี หาญใจ กรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่, ผู้แทนนายสงค์ศักย์ คำดีรุ่งริรัตน์ ผอ.สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ภาค 5, นายก่อพงศ์ นำบุญจิตต์ ผอ.สำนักงาน กกท.จังหวัดเชียงใหม่, นายวิสูตร วรรคดี หัวหน้างานวิทยาศาสตร์การกีฬาภูมิภาค และ ผศ.ชัยพร แก่ววิวัฒน์ เลขาธิการสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วม
img_3333-copy_0_0
img_3370_0_0
อนึ่งหลังจากนี้สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ เตรียมที่จะจัดการอบรมต่อเนื่องในอีก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี วันที่ 17-19 พฤจิกายน 2566, ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 24-26 พฤจิกายน 2566, ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี วันที่ 1-3 ธันวาคม 2566 และปิดท้ายที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 8-10 ธันวาคม 2566 โดยสิทธิพิเศษสำหรับผู้เข้าอบรมโครงการจะได้รับที่พักฟรี, กระเป๋าเดินทางขนาด 20 นิ้ว 1 ใบ, เสื้อยืดของสมาคม และใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้เข้าร่วมครบทั้ง 3 วัน โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ  Kickboxing Association of Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร.092-697447 หรือ 063-1419546

ดร.ปัญญา หาญลำยวง  คณะอนุกรรมการติดตามการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เปิดเผยว่า คิกบ็อกซิ่งเป็นกีฬาใหม่ในไทย แต่ในระดับโลกเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม และมีโอกาสบรรจุเข้าโอลิมปิกเกมส์ในอนาคต ซึ่งการจัดการอบรมกฏ และกติกาของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ทำมาตรฐานในการจัดอบรมไว้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก อาหาร และที่สำคัญคือ เรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสมาคมได้แจกให้กับผู้เข้ารับการอบรม ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนา รวมถึงเรื่องความรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก บุคลากรที่อบรมจะไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ โดยสมาคมได้จัดอบรม 5 ภาคเพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้มีคนรู้จัก และเล่นกีฬาคิกบ็อกซิ่งเพิ่มมากขึ้น
img_3890_0_0
img_3999_0_0
“หลังจากนี้แผนของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ เตรียมจะจัดแข่งขันชิงแชมป์ภาค และชิงแชมป์ประเทศไทย ขั้นต่อไปเราจะนำมาพัฒนาเป็นตัวแทนทีมชาติในการส่งเข้าแข่งขันรายการต่างๆ ของโลก ซึ่งที่ผ่านมานักกีฬาคิกบ็อกซิ่งไทยมีทักษะพื้นฐานที่ดีจากมวยไทย แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องกฏกติกา และไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ฉะนั้นสมาคมได้เห็นปัญหาแล้ว จึงได้วางรากฐาน ด้วยการอบรมกฏกติกา และเผยแพร่ความนิยม ผมเชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้จะทำให้นักคิกบ็อกซิ่งไทยประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ และเชื่อว่าในโอลิมปิกในอนาคตข้างหน้ากีฬาคิกบ็อกซิ่งมีโอกาสเข้าบรรจุ ถึงตอนนั้นนักกีฬาไทยจะมีความพร้อมเต็มที่ มั่นใจว่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้” ดร.ปัญญา กล่าว

ด้านนายมนตรี หาญใจ กรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องขอบคุณสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ที่ให้เกียรติ จ.เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมครั้งนี้ ซึ่งคิดว่าจะเป็นการส่งเสริมให้นักกีฬาที่สนใจคิกบ็อกซิ่ง และให้ความรู้เรื่องกฏกติกา สามารถนำไปถ่ายทอดให้ได้รู้กฏที่แท้จริง มองว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการคิกบ็อกซิ่งไทยที่ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาคิกบ็อกซิ่งไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด