รู้หรือไม่? 4 เหรียญทองในตำนานว่ายน้ำไทย ในเอเชียนเกมส์ มีใครบ้าง?

รู้หรือไม่? 4 เหรียญทองในตำนานว่ายน้ำไทย ในเอเชียนเกมส์ มีใครบ้าง?

กีฬาทางน้ำเป็น 1 ใน 2 กีฬาบังคับที่ต้องจัดการแข่งขันในเอเชียนเกมส์ทุกยุคทุกสมัยเคียงคู่กับกรีฑา เพราะเป็นชนิดกีฬาที่มีการชิงชัยเหรียญรางวัลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 57 เหรียญทอง และเป็นชนิดกีฬาที่คนไทยเคยประสบความสำเร็จในเอเชียนเกมส์มาแล้ว

รวมทุกการแข่งขันทางน้ำ

กีฬาทางน้ำ ประกอบด้วยกิจกรรมทุกประเภทในน้ำ แบ่งออกเป็น 5 ชนิดกีฬา ได้แก่ ว่ายน้ำ, ว่ายน้ำมาราธอน, กระโดดน้ำ, ระบำใต้น้ำ และโปโลน้ำ 

ว่ายน้ำ เป็นการดวลความเร็วกันในสระน้ำ แบ่งออกเป็น 4 ท่า ฟรีสไตล์, ผีเสื้อ, กบและกรรเชียง ตัดสินกันด้วยสถิติใครว่ายได้เร็วกว่าก็เป็นผู้ชนะ สำหรับระยะทางที่ใช้แข่งขัน ท่าฟรีสไตล์ ได้แก่ 50, 100, 200, 400, 800 และ 1500 เมตร ส่วนท่ากบ, กรรเชียงและ ผีเสื้อ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 50, 100 และ 200 เมตร บรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ตั้งแต่ครั้งแรก

ว่ายน้ำมาราธอน เป็นการแข่งขันว่ายน้ำระยะไกล 10 กิโลเมตร ในน่าน้ำเปิด ซึ่งสถานที่ที่ใช้จัดการแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นทะเล นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องมีทั้งความเร็วและความอึด และยังต้องเจออุปสรรคในเรื่องของลม แดด และคลื่นทะเลที่ซัดเข้าใส่เป็นระยะ แถมระยะเวลาที่แข่งขันกันระดับแชมป์โอลิมปิกยังใช้เวลามากกว่า 1.30 ชั่วโมงเลยทีเดียว

กระโดดน้ำ คือกีฬาที่ตัดสินกันด้วยท่วงท่าลีลาเน้นความสวยงามจากการกระโดดบนแท่นกระโดดน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 1 เมตร, 3 เมตร และ 10 เมตร แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือสปริงบอร์ดและแพลตฟอร์ม มีทั้งประเภทคู่และเดี่ยว โดยสปริงบอร์ดนักกีฬาจะออกตัวกระโดดจากแท่นสปิงบอร์ดที่ความสูง 1 เมตรและ 3 เมตร

ส่วนแพลตฟอร์มนักกีฬาออกตัวด้วยการกระโดดลงมาจากแท่นคอนกรีตที่ความสูง 10 เมตร ยิ่งกระโดดและหมุนตัวกลางอากาศด้วยท่วงท่าที่มีความยากและท้าทายแล้วลงน้ำได้เนี๊ยบเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสได้คะแนนมากเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสผิดพลาดมากด้วยเช่นกัน ถูกบรรจุอยู่ในเอเชียนเกมส์ครบทั้ง 18 ครั้ง และจีนเป็นชาติที่ผูกขาดความสำเร็จมาเกือบ 50 ปีแล้ว

ระบำใต้น้ำ เปรียบเสมือนกีฬายิมนาสติกในน้ำ ตัดสินกันด้วยคะแนนความสวยงามและความพร้อมเพรียง แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ประเภท Duet หรือประเภทคู่ และประเภททีมผสม 4-8 คน แต่มีนักกีฬาชายได้ไม่เกิน 2 คน บรรจุในเอเชียนตั้งแต่ปี 1994 ที่ฮิโรชิม่า ซึ่งมีเพียงจีนและญี่ปุ่นแค่ 2 ประเทศเท่านั้นที่เคยคว้าเหรียญทอง

โปโลน้ำ​ เป็นกีฬาประเภททีมที่ใช้ลูกบอลเล่นในน้ำ ผสมระหว่างกีฬาแฮนด์บอลและว่ายน้ำเข้าด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ทีม ๆ ละ 7 คน ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 4 ควอเตอร์ ๆ ละ 8 นาที โดยผู้เล่นทั้งสองทีมต้องพยายามขว้างลูกบอลให้เข้าประตูคู่แข่งให้ได้มากที่สุดจึงจะเป็นผู้ชนะ ทีมชายบรรจุในเอเชียนเกมส์ครั้งแรกปี 1951 ที่อินเดีย ส่วนทีมหญิงบรรจุในเอเชียนเกมส์ครั้งแรก 2010 ที่จีน

4 เหรียญทองในตำนานจากว่ายน้ำไทย มีใครได้บ้าง?

กีฬาทางน้ำไทยเคยประสบความสำเร็จคว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์มาแล้วทั้งหมด 4 เหรียญทอง​ ซึ่งทั้งหมดได้มาจากกีฬาว่ายน้ำ โดยเหรียญทองแรกเป็นผลงานของ รัชนีวรรณ บูลกุล นักว่ายน้ำหญิงเจ้าของเหรียญทองฟรีสไตล์ 200 เมตรหญิง ในปี 1978 ที่กรุงเทพ ซึ่งในปีเดียวกันเธอยังคว้า 2 เหรียญทองแดงฟรีสไตล์ 100 และ 400 เมตร

หลังจากนั้นอีก 16 ปีต่อมา “ฉลามนุ๊ก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ก็มาคว้าเหรียญทองเหรียญทองที่ 2 และ 3 ให้กับไทย โดยได้จากประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตร และ 400 เมตรชาย ในปี 1994 ที่ญี่ปุ่น

ส่วนเหรียญทองสุดท้ายได้จาก ต่อลาภ เสฏฐโสธร ในเอเชียนเกมส์ 1998 ที่กรุงเทพ โดนปีนั้นได้ 1 เหรียญทองจากฟรีสไตล์ 400 เมตรชาย และ 2 เหรียญเงิน เหรียญเงิน ฟรีสไตล์ 200 และ 1500 เมตร และเป็นเหรียญทอง เหรียญสุดท้ายของกีฬาทางน้ำไทยในเอเชียนเกมส์

ไทยตั้งเป้า​ 1 เหรียญทองแดง

สำหรับกีฬาทางน้ำในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 จะแข่งขันตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม โดยมีการชิงชัยรวมทั้งหมด 57 เหรียญทองมากที่สุดในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ แบ่งเป็น ว่ายน้ำ 41 เหรียญทอง, กระโดดน้ำ 10 เหรียญทอง, โปโลน้ำ 2 เหรียญทอง, ระบำใต้น้ำ 2 เหรียญทอง และว่ายน้ำมาราธอน 2 เหรียญทอง

สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมทั้งหมด 66 คน แบ่งเป็น ว่ายน้ำ 20 คน, โปโลน้ำทีมชาย-หญิง ทีมละ 13 คน รวมเป็น 26 คน, กระโดดน้ำ 4 คน, ระบำใต้น้ำ 12 คน และ ว่ายน้ำมาราธอน 4 คน โดยตั้งความหวังไว้ 1 เหรียญทองแดงจากโปโลน้ำทีมหญิงซึ่งคว้าอันดับ 4 ในเอเชียนเกมส์ 2018

อย่างไรก็ตามยังต้องลุ้นหนักเพราะต้องเจองานยาก​จีน แชมป์เก่า 3 สมัยซ้อน, ญี่ปุ่น คาซัคสถาน ขาประจำในที่คว้าเหรียญในเอเชียนเกมส์ นอกจากนี้ก็ยังมีเกาหลีใต้และอุซเบกิสถานเป็นกระดูกชิ้นโตของไทยอีกด้วย