นายสนิท วรปัญญา นายกสมาคมกีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี ดราม่าเงินรางวัลนักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติไทย กับเงินส่งแข่งขัน โดยชี้เป้าห่วงความพร้อมนักกีฬาทีมชาติ ที่ส่งแข่งพัฒนาความเป็นเลิศระดับโลก ได้แค่ปีละครั้งเดียว เพื่อมุ่งผลศึกซีเกมส์ 2025 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนการเติบโตภาพใหญ่กว่า 20 ปี นักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติก็พัฒนาสร้างความสำเร็จมาโดยตลอด ด้านเงินรางวัลนักกีฬา เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายมีมุมมองที่งานต้นน้ำ เสนอความเห็นกติกากองทุนฯ อาจไม่ชัดเจนและสอดคล้องกับการพัฒนากีฬาชาติ ควรแก้ไข
นายสนิท วรปัญญา นายกสมาคมกีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์กรณีดราม่าเงินรางวัลนักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติไทย ชี้แจงว่า ตามข่าวที่นำเสนอนั้น สมาคมมีห่วงใยอย่างแท้จริง 2 เรื่อง หนึ่งคืองบประมาณส่งแข่งขันชิงแชมป์โลก World Final ที่สหรัฐฯ เพราะเป็นรายการใหญ่ที่สุดในโลกนอกประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ และการกีฬาฯ ก็สามารถหางบส่งแข่งได้เพียงรายการเดียวต่อปี แต่ก็สร้างการพัฒนาที่ดี มีผลงานของทีมชาติไทย ในมหกรรมกีฬาใหญ่ทั้งคว้าเหรียญทอง เอเชี่ยนเกมส์ และคว้า 4 เหรียญทองซีเกมส์ อยากเสนอให้งานบริหารต้นน้ำมีการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับผลงานชาติ ไม่อยากให้เก็บแค่ดอกผล ผลงาน แต่ขาดการสนับสนุนกีฬาให้มีความพร้อม
อีกประเด็นคือเรื่องเงินรางวัลนักกีฬา สมาคมฯ สามารถยืนยันได้ว่า ส่วนเงินรางวัลเทียบไม่ได้เลย กับเงินที่นักกีฬาลงทุนไปแข่งขัน แต่มันคือ กำลังใจ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐเห็นความสำคัญของนักกีฬา เช่นที่คุณเปิ้ล นาคร ศิลาชัย ออกมาพูด ผมไม่เชื่อว่าเงิน 50,000 บาท ไปเทียบกับ 1 ใน 10 ของทุนไปแข่งขัน แต่เขาต้องการสื่อสารช่วยนักกีฬาทีมชาติไทยทุกคน จุดนี้สมาคมเองก็ไม่เห็นด้วยกับกติกาที่กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ นำมายึดถือใช้อยู่ขณะนี้
เช่น ตอนแรกส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ แจ้งว่า ไม่สามารถให้เงินนักกีฬาได้เพราะ สมาคมเจ็ตสกีนานาชาติ IJSBA
ไม่ได้เป็นสมาชิกของ สหพันธ์สมาคมกีฬานานาชาติ (GAISF) ทั้งที่เป็นองค์กรเจ็ตสกีโดยตรง เพียงองค์กรเดียวของโลก และดำเนินงานมากว่า 41 ปี จดทะเบียนโดยการรับรองของกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อสมาคมฯ แย้งไปว่า องค์กรสหพันธ์สมาคมกีฬานานาชาติ (GAISF) ยุติบทบาท โดยสมาชิกโหวดให้ยุบองค์กร และชำระการเงิน ไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 กองทุนฯ จึงมีหนังสือมาขอยกเลิกหนังสือดังกล่าว ทำให้นักกีฬาทุกคนเกิดข้อสงสัยกังขาเป็นอย่างยิ่ง ถึงการพิจารณาเหตุผลที่แท้จริง
ล่าสุดแจ้งว่า เหตุผลใหม่คือ มีประเทศแข่ง 8 หรือ 16 ชาติ ข้อเท็จจริงคือการแข่งขัน World Final 2022 มีชาติร่วมแข่งขัน 32 ชาติ ก็มาใช้เหตุผลอีกว่าแต่ละรุ่นก็ต้องมี 8 หรือ 16 ชาติ จึงจะเข้าเกณฑ์ ขอชี้แจงว่า ในกีฬายานยนต์ความเร็วนั้น อาจใช้ข้อกำหนดแบบนี้ได้ยาก เนื่องจากผู้แข่ง ต้องมีความพร้อมสูงในหลายด้าน สมาคมเจ็ตสกีนานาชาติ จึงมีกำหนดไว้ว่า รุ่นที่เปิดแข่งชิงแชมป์โลก ต้องมีเรือแข่งขั้นต่ำ 5 เรือแข่ง ซึ่งก็สอดคล้องกับมหกรรมกีฬาใหญ่ เช่น เอเชี่ยนส์เกมส์ หรือซีเกมส์ที่กำหนดว่า ต้องมี 4-5 ชาติลงแข่งขัน จึงจะเปิดแข่งขันชิงเหรียญ ข้อนี้สมาคมฯ เห็นเป็นกติกาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และชื่อของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
โดยส่วนตัวผมกำลังสับสนว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ต้องอยู่ภายใต้นโยบายของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติหรือไม่? หรือกองทุน ต้องสนับสนุนนโยบายของการกีฬาแห่งประเทศไทย เรื่องนี้เป็นข้อสับสนอย่างมากใน 1-2 ปีมานี้ เพราสมาคมเจ็ตสกีฯ ต้องเสนองานต่อการกีฬาแห่งประเทศไทย แล้วก็ต้องชี้แจงกับกองทุนฯ ด้วย อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่ และผู้ว่าการการกีฬาฯ พิจารณาเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาหลายครั้ง 2 องค์กร ทำงานก็ไม่สอดคล้องกัน และงานซ้ำซ้อน สมาคมฯ ไม่รู้จะต้องรับฟังนโยบายจากใครแน่ เหมือนเป็นฟันเฟืองกีฬาที่ปีนกันอยู่”